28 Jan

อย่าแชร์รูป BOARDING PASS

อย่าแชร์รูป BOARDING PASS

อาจมีหลายคนได้เห็นถึง คำเตือนเรื่องการแชร์รูป Boarding Pass ว่าอาจส่งผลร้ายกว่าที่คิด วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าทำไม คุณถึงไม่ควรแชร์รูป Boarding Pass บนโลกออนไลน์ เพราะนี่คือสิ่งที่ผมหรือใครๆ ก็สามารถทำได้กับมันครับ …

ความจริงแล้ว การแชร์รูป Boarding Pass ก่อนที่จะเดินทาง ไม่น่าจะใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่สามารถแสดงได้ว่า เรากำลังจะเดินทางไปที่ไหนสักที่ เราจึงได้เห็นการแชร์รูป Boarding Pass อยู่บ่อยๆ ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง Facebook, Instagram หรือ Twitter … แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า มันมีผลร้ายมากกว่าที่คิด และอาจจะตามมาด้วยความเดือดร้อนที่คาดไม่ถึงเลยก็เป็นได้ครับ

สิ่งที่น่ากลัวของ Boarding Pass ไม่ใช่ข้อความบนนั้น แต่เป็นแถบบาร์โค้ด

แถบบาร์โค้ดที่ปรากฏอยู่บน Boarding Pass ของสายการบินพาณิชย์ปัจจุบัน (แบบไม่ low cost มากนะ) จะเป็นบาร์โค้ด ในฟอร์แมตที่เรียกว่า PDF417 ซึ่งมองเผินๆ จะเป็นแถบจุดสี่เหลี่ยมสีดำ เรียงตัวกันแบบไม่มีระเบียบ เละๆ ดูไม่รู้เรื่อง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปรากฏอยู่บน Boarding Pass แทบทุกใบ ของหลากหลายสายการบิน … ซึ่งนั่นแหละครับ มันแฝงเอาข้อมูลส่วนตัวอีกจำนวนมาก อยู่ในแถบบาร์โค้ดนั้น จนคุณจะต้องอึ้งไปเลยทีเดียว

เพื่อให้เห็นภาพขออนุญาตยกตัวอย่างของรูป Boarding Pass ที่ถูกแชร์บน Instagram แบบ Public ของคนที่ผมก็ไม่ได้รู้จัก แต่ก็เสิร์ชเจอมาได้อย่างง่ายๆ ด้วยแฮชแท็กที่คนโซเชียลชอบจะใส่กันมา … ภาพด้านล่างนี้ครับ

ตัวอย่างที่ยกมา เป็นของหญิงสาวชาวเกาหลีท่านหนึ่ง เธอได้แชร์รูป Boarding Pass ของสายการบิน Lufthansa เอาไว้แบบเห็นแถบบาร์โค้ด PDF417 อย่างชัดเจน พร้อมมองเห็นชื่อนามสกุลของเธอ และมองเห็นได้ว่า เธอกำลังจะเดินทางจาก ICN (สนามบินอินชอน เมืองโซล ประเทศเกาหลีใต้) ไปยัง FRA (แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมัน) โดยที่เราก็ไม่ได้มองเห็นว่า มันคือเที่ยวบินไฟลต์อะไร ของวันที่เท่าไหร่ด้วยซ้ำ

แต่ผมได้ลองใช้แอปอ่านบาร์โค้ดบน iPhone ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี อย่างง่ายๆ ใครๆ ก็โหลดได้ ส่องเข้าไปที่แถบบาร์โค้ดชุดนี้ … เปรี้ยง!! ผมได้ข้อมูลในบาร์โค้ดออกมาตามนี้เลยครับ !!

ถึงจะดูเป็นตัวอักษรและตัวเลขเรียงกันเยอะๆ แต่มันบอกหมดเลย

ครับ … ชื่อ นามสกุล, เลขไฟลต์, ที่นั่ง, คลาสการจอง, รหัสการจอง, ลำดับการออกตั๋ว, เลข e-ticket … ซึ่งคุณรู้มั้ยครับว่ามันสำคัญขนาดไหน

 

ทดลองเข้าเว็บไซต์ของ Lufthansa ครับ เพื่อไป “จัดการ Booking” ของสาวเกาหลีคนที่เราเองก็ไม่ได้รู้จักอะไรกับเธอเลยแม้แต่น้อย … ข้อมูลที่ผมต้องใส่คือ …“นามสกุล และ รหัสการจอง” … สบาย ได้มาครบแล้ว! แค่นี้ ใส่ไปเลย

 

รู้ข้อมูลส่วนตัวครบทุกอย่างในไม่กี่คลิ๊ก

 

 

 

เข้าสู่หน้าจัดการ Booking ของตั๋วเครื่องบินใบนี้เป็นที่เรียบร้อย … รู้แม้กระทั่งว่า เธอจะเดินทางกลับเกาหลี ด้วยไฟลต์ไหน วันที่เท่าไหร่ ซื้อตั๋วมาราคาเท่าไหร่ (แถมรู้เลขบัตรเครดิต 4 ตัวท้ายที่ใช้ในการซื้อตั๋วด้วย)

 กดยกเลิกเที่ยวบินก็ทำได้สบายๆ

 

ที่สำคัญที่สุดคือ เราสามารถกด Cancel และ Refund ตั๋วเครื่องบินใบนี้ได้เลยทันที ก็ทำได้ง่ายๆ~ ชิลๆ~ หรือจะแอบย้ายที่นั่งให้สองคนนี้นั่งแยกกันซะเลย ก็ทำได้ครับ

 

เหงื่อตกกันเลยใช่มั้ย …

นี่แค่ตัวอย่างนะครับ … แน่นอนว่าเว็บไซต์ของแต่ละสายการบินก็จะแตกต่างกันไป ทำรายการได้ไม่เท่ากัน อย่างของการบินไทย ผมลองแล้วก็สามารถมองเห็นข้อมูลส่วนตัวได้มากมาย เปลี่ยนแปลงที่นั่งได้ แต่ไม่สามารถยกเลิกตั๋วได้ทั้งใบ หรืออย่างของสายการบินอื่น ถ้ามีเลข Frequent Flyer ด้วย ก็จะมองเห็นเที่ยวบินที่ทำการจองในอนาคตได้ทั้งหมด (และกดยกเลิกได้สบายๆ) ครับ

อัปเดตเพิ่มเติม ว่านอกจาก “บาร์โค้ด” บน Boarding Pass ที่ไม่ควรแชร์แล้ว ยังไม่ควรแชร์ภาพที่เห็น “รหัส Booking” 6 หลักด้วยนะครับ เพราะนั่นคือสิ่งที่เราสามารถใช้ในการ login เข้าระบบผ่านเว็บไซต์สายการบินได้เช่นกัน ซึ่งพบว่า เลข Booking ของสายการบินไทยสมายล์นั้น สามารถมองเห็นได้ถึง เดือนและปีที่หมดอายุของบัตรเครดิตที่ใช้ในการจองเลยล่ะครับ อันตรายมากๆ ขอเตือนเลยนะครับ

      สรุปอย่างไม่ต้องยืดยาว “อย่าแชร์รูป Boarding Pass” บนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเที่ยวบินที่ยังเดินทางไม่เสร็จสิ้นครับ ส่วนเที่ยวบินที่สิ้นสุดไปแล้ว ผมดูแล้วส่วนมากปลอดภัยดี แชร์ได้ไม่มีปัญหา เพราะระบบก็จะหา booking นั้นไม่เจอแล้ว หรือถ้าอยากจะแชร์รูป Boarding Pass จริงๆ ก็อย่าแชร์ให้เห็นบาร์โค้ดทั้งแถบครับ ปิดไว้บางส่วน ก็จะปลอดภัยขึ้นมากทีเดียว ด้วยความปรารถนาดีนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก spin9.me

ADISA ACTIVE TRAVEL