24 Dec

ซื้อ ‘ประกันภัยการเดินทางในประเทศ’ เพิ่มเติมจำเป็นหรือเปล่า

ซื้อ ‘ประกันภัยการเดินทางในประเทศ’ เพิ่มเติมจำเป็นหรือเปล่า 

ผู้อ่านหลายๆคน รู้จัก “ประกันภัยการเดินทาง”  ( Travel Insurance ) เวลาเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากในบางประเทศต้องใช้ประกอบการยื่นวีซ่า เช่น วีซ่าเชงเก้น ที่ใช้เดินทางเข้า-ออกทวีปยุโรป 26 ประเทศในคราวเดียว หรือ บางทีเดินทางไปประเทศที่ ค่ารักษาแพงๆ  เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา หรือ แคนาดา ฯลฯ
สำหรับในบ้านเรา อาจจะรู้จักประกันภัยการเดินทางในขั้นตอน “เลือกบริการเสริม” เวลาจองตั๋วเครื่องบินกับสายการบิน โดยเฉพาะ  สายการบินโลว์คอสต์โดยจะแยกจากค่าโดยสาร (และค่าบริการเสริมอื่นๆ) ต่างหาก
ที่ผ่านมามักถูกมองข้ามจากนักท่องเที่ยว เพราะคิดว่าไปแค่ทริปสั้นๆ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุมีน้อยมาก
สำหรับในประเทศไทย แต่ละคนล้วนมีสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นของตัวเองเวลาเจ็บป่วย เช่น ประกันสังคม, บัตรทอง 30 บาท หรือสวัสดิการข้าราชการ แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุก็จะมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ
ถึงกระนั้น บางบริษัทก็มีผลิตภัณฑ์ “ประกันภัยการเดินทางในประเทศ” ให้เลือกใช้บริการเพื่อความอุ่นใจ สนนราคาตั้งแต่หลักสิบบาท จนถึงหลักร้อยบาทขึ้นไป รวมทั้งช่องทางจำหน่ายมีทั้งร้านสะดวกซื้อ และผ่านเว็บไซต์ 
ประกันภัยแบบนี้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบซื้อประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลรายปี ค่อยๆ ซื้อประกันอุบัติเหตุเฉพาะในแต่ละทริป เพิ่มเติมจากสวัสดิการบริษัท โดยแต่ละบริษัทจะมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น


เนื่องจากแต่ละแบบประกันภัย มีรูปแบบความคุ้มครองแตกต่างกันไป สิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องคำนึงถึงเมื่อต้องซื้อประกันภัยการเดินทางในประเทศก็คือ

**1. รูปแบบการเดินทาง หากเดินทางด้วยเครื่องบินไป-กลับ เบี้ยประกันจะแพงกว่าเดินทางโดยรถยนต์ หรือรถโดยสารประจำทาง เนื่องจากมีการคุ้มครองกรณีเที่ยวบินล่าช้า ความสูญหายหรือเสียหายของกระเป๋าเดินทาง
แต่ถ้าอยู่ในต่างจังหวัด จำเป็นต้องเช่ามอเตอร์ไซค์ หรือต้องนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปที่ต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงแบบประกันที่มีเงื่อนไขว่า “ไม่คุ้มครองกรณีขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์” เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครอง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ บริษัทประกันภัยมักจะลดทุนประกันภัยกรณีเสียชีวิตหรือพิการลงมาครึ่งหนึ่ง หรือเพียงแค่ 1 ใน 4 เนื่องจากแต่ละบริษัทมองว่าเสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูงกว่ารถยนต์

2. ค่ารักษาพยาบาล แยกให้ออกระหว่าง “อุบัติเหตุ” หรือ “เจ็บป่วย” เพราะส่วนใหญ่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเฉพาะกรณีอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว หากเจ็บป่วยระหว่างเดินทาง เช่น อาหารเป็นพิษ จะไม่ได้รับสิทธิตรงนี้
หากเป็นค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย แต่ละบริษัทมักจะไม่คุ้มครองกรณีสภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย เช่น โรคเรื้อรัง หรือการเจ็บป่วยก่อนเดินทาง เพราะฉะนั้นคนที่ทำประกันภัยแบบนี้จะต้องมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยก่อนเดินทาง

3. กิจกรรมเสี่ยงต่อการไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่ละบริษัทมักจะมี “ข้อยกเว้นสำคัญ” ที่หากผู้เอาประกันภัยกระทำแล้วเกิดเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ เหมือนประกันอุบัติเหตุทั่วไป อาทิ
– อยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป รวมทั้งสารเสพติด ยาเสพติดให้โทษ
– ฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง
– เข้าร่วมการทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุให้ทะเลาวิวาท
– ก่ออาชญากรรม ถูกจับกุมหรือหลบหนีการจับกุม
– ล่าสัตว์ในป่า แข่งรถ แข่งเรือ แข่งม้า แข่งหรือเล่นสกี รวมถึงเจ็ทสกี
– แข่งสเก็ต ชกมวย โดดร่ม (ยกเว้นโดดร่มเพื่อรักษาชีวิต) ขึ้นบอลลูน เครื่องร่อน เล่นบันจี้จั้มพ์
– ปีนหรือไต่เขาที่ต้องใช้เครื่องมือช่วย ดำน้ำที่ต้องใช้ถังอากาศและเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ ฯลฯ

ถ้าการท่องเที่ยวมีกิจกรรม หรือพฤติกรรมเสี่ยงตามข้อยกเว้นสำคัญเหล่านี้ ควรทำใจไว้ก่อนว่า หากบริษัทประกันภัยตรวจพบ ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
นอกจากนี้ ในบางอาชีพประกันจะมีข้อยกเว้นสำคัญ เช่น ตำรวจ ทหาร ไม่คุ้มครองในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นทหาร ตำรวจ หรืออาสาสมัครและเข้าปฏิบัติการในสงครามหรือปราบปราม

4. รูปแบบการเคลมประกัน เวลาเข้ารับการรักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่ไม่ออกค่ารักษาพยาบาลให้ ต้องสำรองจ่ายให้โรงพยาบาลไปก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องไปเคลมกับบริษัทประกันภัย
ส่วนคนที่มีสวัสดิการบริษัท หรือมีประกันแบบมีค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว สามารถเบิกได้เฉพาะค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินจากสวัสดิการบริษัท สามารถเบิกจากประกันภัยการเดินทาง แต่ไม่เกินค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายจริง 
เช่น เกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง ถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ค่ารักษาพยาบาล 15,000 บาท สวัสดิการบริษัทฯ เบิกได้ 10,000 บาท ส่วนที่เหลือเคลมจากประกันภัยการเดินทางได้เพียงแค่ 5,000 บาทเท่านั้น

5. อย่าลืมแจ้งให้ครอบครัวหรือคนรอบข้างทราบ เผื่อประสบอุบัติเหตุจะได้หาทางช่วยเหลือ เพราะประกันภัยการเดินทางส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารตัวจริงให้ มีแต่ไฟล์ PDF ส่งไปให้ทางอีเมล หรือกรอกเลขอ้างอิงผ่านเว็บไซต์เท่านั้น 
อย่างไรก็ตาม ประกันภัยการเดินทางในประเทศ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความคุ้มครองเป็นครั้งคราว โดยจ่ายเบี้ยประกันน้อย แต่ถ้าต้องออกเดินทางบ่อยครั้ง ควรเลือกทำ “ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล” (PA) โดยจ่ายเป็นรายปีจะคุ้มค่ากว่า
และเนื่องจากประกันอุบัติเหตุ ล้วนแล้วแต่จ่ายเบี้ยประกันแบบ “ทิ้งเปล่า” ปีต่อปีเหมือนประกันสุขภาพ จึงควรสอบถามที่ทำงานว่า ทำประกันกลุ่มไว้มากน้อยขนาดไหน แล้วถึงค่อยซื้อประกันเพิ่มจะดีกว่า

*** หากให้สรุป  ด้วยความเห็นส่วนตัว  การทำประกันการเดินทางในประเทศไปปฎิบัติงานธุรกิจ หรือ ไปเที่ยวพักผ่อน  ไม่ค่อยจำเป็น  เพราะหากเป็นพนักงานบริษัทฯ จะมีประกันสังคม และ ประกันของบริษัทฯเอง อยู่แล้ว  นอกจาก การทำประกันการเดินทางเพิ่มเติม เพื่อความอุ่นใจ ก็ขึ้นกับ งบฯของแต่ละท่านครับ **

ADISA ACTIVE TRAVEL